ทำไมต้องมี Pride Month?

ทำไมต้องมี Pride Month?

ทำไมต้องมี Pride Month?

เรียบเรียงโดย: กาญจนาพร พองพรหม


ผู้อ่านหลายคนคงจะเคยได้ยิน Pride Month มาหลายครั้ง แต่อาจจะยังไม่รู้ถึงความเป็นมา ผู้เขียนจึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับการเดินขบวนพาเหรด Pride และเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่ามีความเป็นมาอย่างไร


วิทยาศาสตร์การแพทย์กับกรอบคิดเรื่องเพศ

เริ่มตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 แวดวงวิชาการในโลกตะวันตกได้รับอิทธิพลความคิด และกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medicalization) เข้ามาอธิบายปัญหาสังคมหลายเรื่อง ซึ่งเป็นความพยายามที่จะควบคุมสังคม และสร้างศีลธรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นมาตรฐานในการชี้วัด (Greenberg, 1988: 403; Garton, 2004: 114) พฤติกรรมทางเพศถูกอธิบายโดยทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) มีกฎเกณฑ์ชี้วัดเรื่องเพศในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่น อวัยวะเพศ ระบบประสาท และฮอร์โมน ฯลฯ


คำอธิบายดังกล่าวเรียกว่า “วิทยาศาสตร์แห่งเพศ” (Science of Sex) (Weeks, 2003: 42 อ้างถึงใน นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2558: 8) เพศปกติจึงมีเพียงเพศชายและเพศหญิง และรสนิยมทางเพศที่เรียกว่าปกติจึงเป็นรสนิยมแบบชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) อีกทั้งในทางการแพทย์ยังวินิจฉัยว่ารักร่วมเพศ (Homosexual) ถือเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ฮอร์โมนผิดปกติ หรือเป็นความผิดปกติทางจิต ทั้งยังมีความเชื่อว่าการช็อตด้วยไฟฟ้าสามารถรักษาอาการรักร่วมเพศได้ กรอบคิดเรื่องเพศดังกล่าว ทำให้บุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ หรือมีรสนิยมทางเพศแตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคมในยุคนั้นไม่ได้รับการยอมรับ ถูกผลักออกไปเป็นคนชายขอบ และต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตนเอง


เหตุการณ์การจลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riot)

วันที่ 28 มิถุนายน 1969 เกิดเหตุการณ์การจลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riot) เนื่องจากตำรวจได้บุกตรวจค้นบาร์ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นบาร์เกย์ที่มีชื่อเสียงในเมืองนิวยอร์ก ขณะนั้นบาร์เกย์ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องเปิดอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และต้องมีการส่งส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ในวันนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังต่อลูกค้าในบาร์ ความอดทนของลูกค้าชาว LGBTQ+ ที่อยู่ในบาร์จึงถึงขีดจำกัด มีการต่อสู้ขัดขืนการจับกุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ความรุนแรงกับฝูงชน และการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ยิ่งทวีความโกรธแค้นแก่ฝูงชนมากขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจล และด้วยจำนวนลูกค้าที่มีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มีการทำลายสิ่งของ และเกิดเพลิงไหม้ขึ้น เหตุการณ์จลาจลครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ และจุดประกายความโกรธแค้นให้กับชาว LGBTQ+ ทั่วประเทศ


จาก Stonewall Riot สู่การขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และ Pride Month

ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ (2563) กล่าวว่า Stonewall Riot เร่งให้เกิดการรณรงค์เรียกร้องการยอมรับ  อัตลักษณ์ และกระตุ้นให้ชาว LGBTQ+ ที่ยังไม่ยอมรับตัวตนของตัวเองได้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ผิดปกติ นักเคลื่อนไหวจำนวนมากออกมาร่วมกันก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “Gay Liberation Front” ซึ่งต่อมามีแคมเปญหลายอย่างที่แสดงให้สังคมอเมริกันรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาว LGBTQ+ เช่น แคมเปญรณรงค์ให้ชาว LGBTQ+ ออกมายอมรับกับครอบครัวและเพื่อนถึงเพศสภาพของตัวเอง (Come Out) รวมไปถึงการเดินขบวนในที่สาธารณะ โดยมีการจูบกันของคนเพศเดียวกัน มีการล็อบบี้นักการเมืองให้ล้มเลิกกฎหมายที่ต่อต้านชาว LGBTQ+ และการจัด Pride Parade ในเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์ สโตนวอลล์ อินน์


นอกจากนั้น ในปี 1970 กลุ่ม Gay Liberation Front ได้ไปประท้วงการประชุมวิชาการของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association หรือ APA) ณ เมืองลอสแอนเจลิส จนทำให้งานประชุมต้องยุติลง เหตุการณ์นี้เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ และทำให้ทางสมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐฯ ต้องยอมมาหารือกับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเป็นทางการ ซึ่งสุดท้ายในปี 1973 สมาคมจิตแพทย์ฯ ก็ยอมลดระดับการนิยาม Homosexuality จากโรควิกลจริต (Mental Disorder) หรือเป็นความเจ็บป่วยทางจิตมาเป็นความเบี่ยงเบน (Disturbance) แทน


และต่อมาในปี 1987 สมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐฯ ยอมรับว่าเป็นความปกติ (Normal Variation) เป็นผลจากมีงานวิจัยของนักเพศศึกษาที่มีชื่อว่า อัลเฟรด คินซีย์ (Alfred Kinsey) ได้สำรวจในคนที่ไม่มีประวัติโรคทางจิตเวชหลายพันคน พบว่าค่าเฉลี่ยของการเป็นรักร่วมเพศมีอยู่สูงถึง 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขัดกับความเชื่อที่ว่าภาวะรักร่วมเพศมักจะเจอเฉพาะในคนที่มีโรคทางจิตเวชเท่านั้น และงานวิจัยของนักจิตวิทยา ชื่อ เอเวอลิน ฮุกเคอร์ (Evelyn Hooker) ซึ่งทำการทดสอบทางจิตเวชกับเพศชายที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ 30 คน เปรียบเทียบกับชายที่มีรสนิยมรักต่างเพศ 30 คน พบว่าไม่มีใครเป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือไม่พบสัญญาณของความผิดปกติทางจิตในกลุ่มชายที่เป็นเกย์ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่ารักร่วมเพศชายเป็นบุคคลที่มักมีปัญหาทางจิตอย่างรุนแรง


ในปี 2000 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาชื่อ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ได้เห็นความสำคัญของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือน Gay & Lesbian Pride Month (เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน) และเมื่อถึงยุคของ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน จึงประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month (เดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียม Pride Month หรือ Pride Parade ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี ได้รับความสนใจจากผู้ที่สนับสนุนความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ ขยายพื้นที่ไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย

 


อ้างอิง

[1] ตนุภัทร โลหะพงศธร และ ณัฐมน สุนทรมีเสถียร. (2565). Pride Month 101 ความรู้ฉบับกระชับเกี่ยวกับเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIA+. จาก https://becommon.co/world/pride-month-and-lgbtqia/?fbclid=IwAR3rNGJ6mPCRGNYWJdzIUruhFsly4PWtOfus9kZfTQFqUN33TZGDokIe-wk

[2] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2558). ทบทวนวิธีการสร้างความรู้ / ความจริงเรื่องเพศ. จาก

https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/2

[3] ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ. (2563). จาก Sodomy Law สู่การสมรสเพศเดียวกัน ย้อนดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานของ LGBTQ ในอเมริกา. จาก https://thestandard.co/united-states-lgbtq-long-protest-history/

[4] Drescher, J. (2015). Out of DSM: Depathologizing Homosexuality. Behavioral Science,

5(4), 565–575.

[5] Garton, Stephen. Histories of Sexuality. New York, Routledge. 2004.

[6] Greenberg, David F. The Construction of Homosexuality. Chicago, The University of

Chicago Press.1988.

[7] Weeks, Jeffrey. Sexuality. London, Routledge. 2003.